ประวัติ ความเป็นมา ของการ์ตูน เฮลโล คิตตี้ ( Hello Kitty )
"เฮลโล คิตตี้ ( Hello Kitty ) " เป็นตัวการ์ตูนลักษณะคล้ายแมวพันธุ์บ๊อบเทลเพศเมียสีขาว มีลักษณะเด่น คือ ผูกโบแดงที่หูซ้ายและไม่มีปาก ผลิตโดยบริษัทซานริโอ ของประเทศญี่ปุ่น ออกแบบโดยยูโกะ ชิมิซุ
มีชื่อจริงว่า "คิตตี้ ไวต์" เกิดเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2517 ในแถบชานกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กซึ่งมีหลังคาสีแดงกับครอบครัว มีส่วนสูงเท่ากับแอปเปิ้ล 5 ผล และน้ำหนักเท่ากับแอปเปิ้ล 3 ผล เลือดกรุ๊ปเอ ชอบสีชมพู มีอุปนิสัยร่าเริง อบอุ่นและใจดี
ด้านงานอดิเรก ชอบสะสมของเล็กของน้อย และทำขนมหวานเก่ง โดยมีเมนูโปรดเป็นของหวานอย่าง พายแอปเปิ้ลฝีมือแม่ ฮอตเค้ก และพุดดิ้ง
นอกจากนั้น วิชาที่คิตตี้ชอบเรียนในโรงเรียน คือ ภาษาอังกฤษ ดนตรีและศิลปะ จึงมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักเปียโนหรือกวี คิตตี้มีสัตว์เลี้ยงเป็นแมวพันธุ์เปอร์เซียชื่อ ชาร์มมี่ คิตตี้ และหนูแฮมสเตอร์ชื่อ ชูการ์
ปัจจุบันอายุย่างเข้าปีที่ 39 และเป็นแฟนกับเพื่อนในวัยเด็กที่ชื่อ แดเนียล สตาร์
สำหรับที่มา ของชื่อ "เฮลโล คิตตี้" นั้น นางยูโกะ ชิมิซุ ผู้ออกแบบเผยว่าได้แรงบันดาลใจจากนิยายชื่อดังของนักประพันธ์ ลีวิส แครอลล์ เรื่อง "Through The Looking Glass" ที่อลิซ ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องนั้นเล่นกับแมวที่ชื่อ "คิตตี้" นอกจากนั้น นายชินทาโร่ ซูจิ ผู้ก่อตั้งบริษัทซานริโอระบุว่าปรัชญาในการทำงาน คือ ความต้องการจะสื่อสารกับสังคม จึงเป็นที่มาของการเติมคำว่า "เฮลโล" นำหน้า "คิตตี้"
นอกจากนั้น อีกหนึ่งจุดเด่นที่หลายคนมักถามถึง คือ ทำไมคิตตี้จึงไม่มีปาก ทางด้านโฆษกของซาน ริโอกล่าวว่า ตั้งใจที่จะทำเช่นนั้น เพราะง่ายต่อการที่คนมองแล้วจะสามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของคิตตี้ คนดูจึงมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวการ์ตูนเองว่ากำลังมีความสุขหรือเศร้า
"คิตตี้" เปิดตัวครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีพ.ศ.2517 เป็นกระเป๋าผ้าใบใส่เหรียญสตางค์ จากนั้นในปีพ.ศ.2519 จะไปโด่งดังในสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการค้าไปทั่วโลก โดยขยายสินค้าออกไปหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา หรือเสื้อผ้าและเครื่องประดับ กระทั่งถึงเครื่องบินแอร์บัส เฮลโล คิตตี้ รุ่น เอ33-200
นอกจากนั้นยังถูกนำไปผลิตเป็นละครโทรทัศน์กว่า 30 ตอน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2542-2554 และยังมีสวนสนุกในร่มที่สร้างขึ้นด้วยแนวคิดจากคิตตี้อย่าง "ซานริโอ พูโรแลนด์" และ "ฮาร์โมนีแลนด์" อีกด้วย
แม้กลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้า "เฮลโล คิตตี้" จะเป็นเยาวชน แต่กลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่หันมาสนใจเฮลโล คิตตี้ ในฐานะสินค้าย้อนยุคมากขึ้น ซึ่งในปีพ.ศ.2551 บริษัทซานริโอระบุว่ามีสินค้าที่ใช้เฮลโล คิตตี้ เป็นสัญลักษณ์กว่า 50,000 รายการใน 60 ประเทศทั่วโลก และทำกำไรให้กับบริษัทราว 15,000 ล้านบาท